วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

ยาแก้ปวดลดไข้






ดีคอลเจน (Decolgen) เป็นชื่อการค้าของยาเม็ดที่ใช้บำบัดรักษาอาการของไข้หวัด/โรคหวัด ในประเทศไทยมีขึ้นทะเบียนอยู่ 2 สูตรตำรับ คือ
- ‘Decolgen tab’ จัดอยู่ในหมวดยาทั่วไปที่ไม่ใช่ยาอันตราย ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ Paracetamol 500 มิลลิกรัม +Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- และ ‘Decolgen prin tab’ มีตัวยาลดน้ำมูกเพิ่มเข้ามาจากสูตรแรกและถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีส่วนประกอบของตัวยาสำคัญ คือ Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Phenylephrine HCl 10 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด
สามารถหาซื้อยานี้ทั้ง 2 สูตรตำรับยาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ด้วยเป็นที่รู้จักของคนไทยมาหลายสิบปี หลายครอบครัวได้ซื้อหาและเก็บไว้เป็นยาประจำบ้าน เราสามารถพบเห็นสูตรตำรับที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับตำรับยาดีคอลเจนอีกมากมายหลายชื่อการค้า (ที่คุ้นเคยได้แก่ ยาทิฟฟี่/Tiffy) ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลและขอคำแนะนำการใช้ยาหมวดนี้จากเภสัชกรใกล้บ้านหรือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์


สรรพคุณของดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • ดีคอลเจน (Decolgen) / ทิฟฟี่ (TIFFY) มีสรรพคุณช่วยบรรเทาหวัดที่มีอาการน้ำมูกไหล น้ำตาไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้
  • ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY) มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล คันคอ จาม ปวดศีรษะ และเป็นไข้ อันเนื่องมาจากโรคภูมิแพ้ โรคหวัด หรือไข้ละอองฟาง[1],[3]
  • ทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP) ใช้สำหรับเด็กเพื่อบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้หวัดที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บรรเทาอาการจาม คัดแน่นจมูก และบำบัดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ[1]
  • ดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) / ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU) มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล อาการปวดหรือมีไข้ เนื่องจากโรคหวัดหรือโรคภูมิแพ้ และรักษาอาการคัดจมูกเนื่องจากโรคไซนัสอักเสบ[4]

    กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

    • ตัวยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาแก้ปวดลดไข้ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไข้ (ยาลดไข้) และบรรเทาอาการปวด (ยาแก้ปวด)
    • ตัวยาคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) เป็นยาแก้แพ้ มีสรรพคุณช่วยลดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูกจากโรคหวัด
    • ตัวยาฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl) เป็นยาลดน้ำมูก มีสรรพคุณช่วยลดปริมาณน้ำมูกที่เป็นเหตุทำให้คัดจมูกและหายใจไม่สะดวก
    • ตัวยาซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Pseudoephedrine HCl) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัด ไซนัสอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ละอองฟาง และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอื่น ๆ
    ด้วยกลไกของยาดังกล่าวจึงทำให้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณที่กล่าวมา ซึ่งหลังจากรับประทานยาเข้าไปแล้วตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในเวลาประมาณ 15-30 นาที และจะใช้เวลาออกฤทธิ์ในร่างกายประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงหมดฤทธิ์ เพราะจะค่อย ๆ ถูกร่างกายกำจัดออกไปทางปัสสาวะ ทางเหงื่อ ทางอุจจาระ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วอาการของโรคอาจจะกลับมาเป็นอีก ก็ต้องรับประทานยาซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง


ก่อนใช้ยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
  • ประวัติการแพ้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol), คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • การมีโรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ส่วนประกอบที่เป็นยาพาราเซตามอลของยาดีคอลเจนหรือทิฟฟี่อาจทำให้ฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) อาจทำให้เกิดฤทธิ์ของการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองเพิ่มมากขึ้นจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอนมากกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) สามารถทำให้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้นและส่งผลต่อการรักษา รวมถึงเกิดผลข้างเคียงของยาได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • มีหรือเคยมีโรคตับ โรคไต ภาวะติดเหล้า โรคต้อหิน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคถุงลมปอดอักเสบเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะต่อมลูกหมากโต มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังอยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้




ทำเพื่อการศึกษาไม่ได้หาผลกำไร